เมนู

3. นังคลีสชาดก


คนโง่กล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว


[123] "คนโง่ย่อมกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว
ทุกอย่างได้ในที่ทุกแห่ง คนโง่นี้ไม่รู้จักเนยข้น
และงอนไถ ย่อมสำคัญเนยขึ้นและนมสดว่า
เหมือนงอนไถ"

จบ นังคลีสชาดกที่ 3

อรรถกถานังคลีสชาดกที่ 3


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภพระโลลุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น
ว่า อสพฺพตฺถคามึ วาจํ ดังนี้.
ได้ยินว่า พระเถระนั้น เมื่อกล่าวธรรม มิได้รู้ข้อที่ควร
และไม่ควรว่า ในที่นี้ ควรกล่าวข้อนี้ ในที่นี้ไม่ควรกล่าวข้อนี้
ในงานมงคล ก็กล่าวอวมงคล กล่าวอนุโมทนาอวมงคล
นี้ว่า เปรตทั้งหลายพากันยืนอยู่ที่นอกฝาเรือน และที่กรอบ
ประตูและเช็ดหน้าเป็นต้น ครั้นถึงงานอวมงคล เมื่อกระทำ
อนุโมทนากลับกล่าวว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก
ได้คิดมงคลทั้งหลายกันแล้ว เป็นต้น แล้วกล่าวย้ำว่า ขอให้
พวกท่านสามารถกระทำมงคลเห็นปานนั้น ให้ได้ร้อยเท่า พันเท่า

เถิด ครั้นวันหนึ่งภิกษุทั้งหลาย พากันยกเรื่องนี้ขึ้นสนทนากัน
ในโรงธรรมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระโลลุทายี มิได้รู้ข้อที่ควร
และไม่ควร กล่าววาจาที่ไม่น่ากล่าวทั่วไป ทุกหนทุกแห่ง พระ-
ศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ
นั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูล
ให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้
เท่านั้นที่โลลุทายีนี้ มีไหวพริบช้า เมื่อกล่าวก็ไม่รู้ข้อที่ควร
และไม่ควร แม้ในครั้งก่อนก็ได้เป็นอย่างนี้ เธอเป็นผู้เลื่อนเปื้อน
เรื่อยทีเดียว แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล
เจริญวัยแล้ว เล่าเรียนสรรพศิลปวิทยาในเมืองตักกสิลา ได้เป็น
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในพระนครพาราณสี บอกศิลปวิทยาแก่
มาณพ 500 ครั้งนั้น ในบรรดามาณพเหล่านั้น มีมาณพผู้หนึ่ง
มีไหวพริบย่อหย่อน (ปัญญาอ่อน) เลื่อนเปื้อน เป็นธัมมันเตวาสิก
เรียนศิลปะ แต่ไม่อาจจะเล่าเรียนได้ เพราะความเป็นคนทึบ
แต่ได้เป็นผู้มีอุปการะต่อพระโพธิสัตว์ ทำกิจทุก ๆ อย่างให้
เหมือนทาส อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์บริโภคอาหารเย็นแล้ว
นอนเหนือเตียงนอน กล่าวกะมาณพนั้น ผู้ทำการนวดมือ เท้า
และหลังให้ แล้วจะไปว่า พ่อคุณ เจ้าช่วยหนุนเท้าเตียงให้ก่อน
แล้วค่อยไปเถิด มาณพหนุนเท้าเตียงข้างหนึ่งแล้ว ไม่ได้อะไร

ที่จะหนุนเท้าเตียงอีกข้างหนึ่ง ก็เลยเอาวางไว้บนขาของตนจน
ตลอดคืน พระโพธิสัตว์ลุกขึ้นในตอนเช้า เห็นเขาแล้ว ถามว่า
พ่อคุณ เจ้านั่งทำไมเล่า ? เขาตอบว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ผม
หาอะไรหนุนเท้าเตียงไม่ได้ เลยเอาวางไว้บนขาของตนนั่งอยู่
พระโพธิสัตว์ สลดใจ คิดว่า มาณพมีอุปการคุณแก่เรายิ่งนัก
ในกลุ่มมาณพมีประมาณเท่านี้ เจ้านี้คนเดียวโง่กว่าเพื่อน ไม่
อาจศึกษาศิลปะได้ ทำอย่างไรเล่าหนอ เราจึงจะทำให้เขา
ฉลาดขึ้นได้ ครั้นแล้วก็ได้เกิดความคิดขึ้นว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง
เราต้องคอยถามมาณพนี้ ผู้ไปหาฟืนหาผักมาแล้วว่า วันนี้เจ้า
เห็นอะไร เจ้าทำอะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจะต้องบอกเราว่า
วันนี้ผมเห็นสิ่งชื่อนี้ ทำกิจชื่อนี้ ครั้นแล้วเราต้องถามว่า ที่เจ้า
เห็น ที่เจ้าทำเช่นอะไร ? เขาจักบอกโดยอุปมาและโดยเหตุว่า
อย่างนี้ ด้วยวิธีนี้ เราให้เขากล่าวอุปมาและเหตุแล้ว จักทำให้
เขาฉลาดได้ ด้วยอุบายนี้ ท่านจึงเรียกเขามาบอกว่า พ่อมาณพ
ตั้งแต่บัดนี้ไป ในที่ที่เจ้าไปหาฟืนและหาผัก เจ้าได้เห็นได้กิน
ได้ดื่ม หรือได้เคี้ยวสิ่งใดในที่นั้น ครั้นมาแล้ว ต้องบอกสิ่งนั้น
แก่เรา.
เขารับคำว่า ดีละขอรับ วันหนึ่งไปป่าเพื่อหาฟืนกับมาณพ
ทั้งหลาย เห็นงูในป่า ครั้นมาแล้วก็บอกว่า ท่านอาจารย์ครับ
ผมเห็นงู ท่านอาจารย์ถามว่า พ่อคุณขึ้นชื่อว่างู เหมือนอะไร ?
ตอบว่า แม้นเหมือนงอนไถครับ อาจารย์ชมว่า ดีแล้ว ดีแล้ว

พ่อคุณ อุปมาที่เจ้านำมาว่า งูเหมือนงอนไถเป็นที่พอใจละ
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ดำริว่า อุปมาน่าพอใจ มาณพนำมาได้
เราคงอาจจะทำให้เขาฉลาดได้ ฝ่ายมาณพวันหนึ่งเห็นช้างในป่า
มาบอกว่า ท่านอาจารย์ครับ ผมเห็นช้าง อาจารย์ซักว่า ช้าง
เหมือนอะไรเล่า พ่อคุณ ? ตอบว่า ก็เหมือนงอนไถนั่นแหละ
พระโพธิสัตว์คิดว่า งวงช้างก็เหมือนงอนไถ อื่น ๆ เช่นงาเป็นต้น
ก็พอจะมีรูปร่างเช่นนั้นได้ แต่มาณพนี้ไม่อาจจำแนกกล่าวได้
เพราะตนโง่ ชะรอยจะพูดหมายเอางวงช้าง แล้วก็นิ่งไว้ อยู่มา
วันหนึ่ง มาณพได้กินอ้อยในที่ที่เขาเชิญไป ก็มาบอกว่า ท่าน-
อาจารย์ครับ วันนี้ผมได้เคี้ยวอ้อย เมื่อถูกซักว่า อ้อยเหมือน
อะไรเล่า ? ก็กล่าวว่า เหมือนงอนไถอย่างไรเล่าครับ อาจารย์
คิดว่า มาณพ กล่าวเหตุผลสมควรหน่อย แล้วคงนิ่งไว้ อีกวันหนึ่ง
ในที่ที่ได้รับเชิญ มาณพบางหมู่บริโภคน้ำอ้อยงบ กับนมส้ม
บางหมู่บริโภคน้ำอ้อยกับนมสด มาณพนั้นมาแล้วกล่าวว่า
ท่านอาจารย์ครับ วันนี้ผมบริโภคทั้งนมส้มและนมสด ครั้นถูก
ซักว่า นมส้ม นมสดเหมือนอะไร ? ก็ตอบว่า เหมือนงอนไถ
อย่างไรเล่าครับ อาจารย์กล่าวว่า มาณพนี้เมื่อกล่าวว่า งูเหมือน
งอนไถ เป็นอันกล่าวถูกต้องก่อนแล้ว แม้กล่าวว่า ช้างเหมือน
งอนไถ ก็ยังพอกล่าวได้ด้วยเล่ห์ที่หมายเอางวง แม้ที่กล่าวว่า
อ้อยเหมือนงอนไถ ก็ยังเข้าท่า แต่นมส้ม นมสดขาวอยู่เป็นนิจ
ทรงตัวอยู่ด้วยภาชนะ ไม่น่าจะกล่าวอุปมาในข้อนี้ได้ โดยประการ

ทั้งปวงเลย เราไม่อาจให้คนเลื่อนเปื้อนผู้นี้ศึกษาได้ จึงกล่าว
คาถานี้ ความว่า :-
"คนโง่ ย่อมกล่าวคำที่ไม่ควรกล่าว ทุก
อย่างได้ในที่ทุกแห่ง คนโง่นี้ไม่รู้จักเนยขึ้น และ
งอนไถ ย่อมสำคัญ เนยขึ้นและนมสด ว่าเหมือน
งอนไถ"
ดังนี้.
ในคาถานั้น มีความสังเขปดังนี้ :- วาจาใดที่ไม่เหมาะ
ในที่ทุกแห่งด้วยสามารถแห่งอุปมา วาจาที่ไม่เหมาะสมในที่
ทุกแห่งนั้น คนโง่พูดได้ทุกแห่ง เช่นถูกถามว่า นมส้มเหมือน
อะไร ? ก็ตอบทันทีว่า เหมือนงอนไถอย่างไรเล่า ? เมื่อพูด
อย่างนี้ เป็นอันไม่รู้จักทั้งนมส้ม ทั้งงอนไถ เหตุไร ? เพราะ
เหตุว่า แม้นมส้มเขายังสำคัญเป็นงอนไถไปได้ อีกนัยหนึ่ง
เพราะเขามาสำคัญทั้งนมส้มและนมสดว่า เหมือนงอนไถเสียได้
มาณพนี้ โง่ถึงอย่างนั้น พระโพธิสัตว์คิดว่า ประโยชน์อะไรด้วย
มาณพนี้ จึงบอกกล่าวแก่พวกอันเตวาสิกทั้งหลาย ให้เสบียง
แล้วส่งมาณพนั้นกลับไป.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดกว่า มาณพเลื่อนเปื้อนในครั้งนั้น ได้มาเป็นโลลุทายี ส่วน
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถานังคลีสชาดกที่ 3

4. อัมพชาดก


บัณฑิตควรพยายามร่ำไป


[124] "บุรุษผู้เป็นบัณฑิต ควรพยายามร่ำไป
ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายาม
ผลมะม่วงทั้งหลายที่มีให้บริโภคอยู่ ก็ด้วยความ
พยายามทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่มีมาได้เอง"

จบ อัมพชาดกที่ 4

อรรถกถาอัมพชาดกที่ 4


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
ทรงปรารภพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรคนหนึ่ง ตรัสพระธรรม-
เทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วายเมเถว ปุริโส ดังนี้.
ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นเป็นกุลบุตรชาวพระนครสาวัตถี
บวชถวายชีวิตในพระศาสนา ได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร กระทำ
อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร และวัตรมีการตั้งน้ำดื่มสละน้ำใช้
ทั้งวัตรในโรงอุโบสถ สละวัตรในเรือนไฟเป็นต้น เป็นอันดี
ได้เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในมหาวัตรทั้ง 14 และขันธกวัตร
ทั้ง 80 กวาดวิหาร บริเวณโรงตึกทางไปวิหาร ให้น้ำดื่มแก่
พวกมนุษย์ พวกมนุษย์เลื่อมใสในความสมบูรณ์ด้วยวัตรของ
ท่าน พากันถวายภัตรประจำ ประมาณ 500 ราย ลาภและสักการะ